/ วิศวฯ จุฬาฯ ร่วมกับสถานีวิทยุจุฬาฯ จัดโครงการ Envi Mission ภารกิจรักษ์สิ่งแวดล้อม ปีที่ 4
นางสาวศตกมล วรกุล ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง ความร่วมมือครั้งนี้ว่า ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการสนับสนุนพื้นที่จัดกิจกรรมทางการศึกษาของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้งนี้ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและแนวทางปฏิบัติของเอ็ม บี เค ที่มีความมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามกรอบ ESG (Environmental, Social, and -Governance) ส่งมอบคุณค่าที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนด้านการศึกษาให้กับเยาวชน ในรูปแบบของโครงการต่าง ๆ และความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคประชาชน อย่างต่อเนื่อง
รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการ สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะสื่อมวลชนได้ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด โดยได้เผยแพร่ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมออกสู่สังคมและสร้างความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชนทั่วไป ผ่านรายการ Envi Insider ซึ่งออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 11:30–11:55 น. โดยมีผู้ดำเนินรายการเป็นคณาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้เกิดความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์-มหาวิทยาลัย และสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการจัดกิจกรรมภายใต้ โครงการ Envi Mission ภารกิจรักษ์สิ่งแวดล้อม ปีที่ 4 ภายใต้หัวข้อ Decode the Pipeline Electrify the future : รวมพลังคิด(ส์)ฝ่าวิกฤตพลังงาน โดยมีเป้าหมายหลักในการปลูกฝังแนวคิดรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาทั่วประเทศ
อีกทั้งยังส่งเสริมให้นักเรียนนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมของโครงการฯ ไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจริงในชุมชนของตนเองผ่านการทำโครงงาน ดังนั้นโครงการฯ นี้จึงสอดคล้องกับพันธกิจของสถานีวิทยุจุฬาฯ ที่ต้องการสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับพลเมืองยุคใหม่ และร่วมพัฒนาชุมชนของตนเองให้เกิดความยั่งยืนสืบไป”
ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวขอบคุณผู้ร่วมสนับสนุนและกล่าวถึงความสำคัญของโครงการว่า “โครงการ Envi Mission ภารกิจรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้เยาวชนระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศได้สมัครเข้าร่วมกิจกรรม โดยทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน รวมถึงการใช้พลังงาน ถึงแม้ว่า โครงการ Envi Mission ภารกิจรักษ์สิ่งแวดล้อม จะเป็นโครงการประกวดการแข่งขัน แต่ความมุ่งหวังของโครงการจะมุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมทุกคนได้ประโยชน์กลับไปในระหว่างทางของการเข้าร่วมโครงการ
นอกจากนี้ โครงการ Envi Mission เป็นการสร้างความตระหนักเรื่องความยั่งยืนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา ด้วยความหวังว่าเมื่อเยาวชนเหล่านี้เติบโตขึ้นต่อไปในอนาคต จะเกิดการสร้างผู้นำในแต่ละหลากหลายสาขาอาชีพโดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน โดยในปีที่ 4 นี้ โครงการได้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ Decode the Pipeline Electrify the future : รวมพลังคิด(ส์)ฝ่าวิกฤตพลังงาน ซึ่งตอบสนองต่อสภาวะในปัจจุบันที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤติด้านพลังงาน โดยหวังว่ากิจกรรม Envi Mission ในปีนี้ จะสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการลดการใช้พลังงานที่ไม่ใช่เพียงแค่การลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น แต่เพื่อสร้างความยั่งยืนของโลกต่อไปอนาคต”
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า “การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน จะส่งผลให้พลังงานโดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้ามีความสะอาด หรือส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไฟฟ้าจะต้องมีความเสถียรมากขึ้น ดับน้อยลง และราคาไฟฟ้าอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ อันเป็นที่มาของหัวข้อ Decode the Pipeline Electrify the future : รวมพลังคิด(ส์)ฝ่าวิกฤตพลังงาน โดยโครงการ Envi Mission ภารกิจรักษ์สิ่งแวดล้อม ปีที่ 4 นี้ เปิดรับสมัครจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ นักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรกจะได้เข้าร่วมกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ในช่วงเดือนสิงหาคม เพื่อเรียนรู้แนวคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับพลังงาน และเรียนรู้การสร้างแนวคิดริเริ่มเชิงนวัตกรรม รวมทั้งการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างบูรณาการ ระหว่างทางยังมีการพัฒนาโครงการและได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานของประเทศ และมีการแข่งขันรอบสุดท้าย ณ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”
ในงานแถลงข่าวยังมีการเสวนา หัวข้อ สถานการณ์พลังงานปัจจุบันและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคต จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายหน่วยงาน โดย ดร.ทวีศักดิ์ บรรลือสินธุ์ ผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมองค์กรและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด ได้กล่าวถึงสถานการณ์การจัดการแหล่งเชื้อเพลิงที่ตอบสนองการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศ คุณสมิทธ์ พนมยงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารสินทรัพย์ธุรกิจในเครือและการลงทุน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึง ธุรกิจไฟฟ้ากับการปรับตัวสู่พลังงานทางเลือก ดร.วรพงษ์ สินสุขถาวร ผู้จัดการฝ่ายแผนงาน บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึง ความท้าทายของภาคพลังงานกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ ดร.ประหยัด บุญคำ ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงการปรับตัวต่อสถานการณ์พลังงานในปัจจุบันในมุมมองผู้ใช้พลังงาน และ ดร.ณัฐวิญญ์ ชวเลิศพรศิยา ผู้อำนวยการโครงการ Industrial Liaison Program คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงความสำคัญของการสร้างความตระหนักและความเข้าใจเพื่อปรับตัวสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงาน โดยมี ดร.วุฒิวงศ์ วิมลศักดิ์เจริญ นักวิจัยด้านสังคมแล้วสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ
รูปแบบโครงการ Envi Mission ภารกิจรักษ์สิ่งแวดล้อม ปีที่ 4
“Decode the Pipeline: รวมพลังคิด(ส์)ฝ่าวิกฤตพลังงาน
จากพันธกิจของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ต้องการสร้างและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีกระบวนการคิดและความยั่งยืน อีกทั้งส่งเสริมความร่วมมือในการขับเคลื่อนสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนด้วยการบูรณาการองค์ความรู้จากหลากหลายสาขาวิชา คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ร่วมมือกันจัดโครงการ Envi Mission ภารกิจรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมให้กับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาจากทั่วประเทศ ผ่านกิจกรรมที่เสริมสร้างแนวคิดเชิงบูรณาการองค์ความรู้จากหลากหลายสาขาวิชา นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้นำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดในชีวิตจริง ผ่านการทำโครงงานการจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ท้องถิ่นของตนเอง อันเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนอีกด้วย
โครงการ Envi Mission ภารกิจรักษ์สิ่งแวดล้อม ปีที่ 4 นี้มีกิจกรรมการจัดประกวดการแข่งขันแนวคิดริเริ่ม และการดำเนินงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ในมิติด้านพลังงาน โดยรับสมัครเป็นทีม ในแต่ละทีมประกอบด้วยสมาชิก จำนวน 4 คน (นักเรียน 3 คน และครู 1 คน) โดยสามารถส่งใบสมัครได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันศุกร์ที่ 30 มิถุนายน 2566
จากนั้นคณะกรรมการจะคัดเลือกทีมเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 20 ทีม โดยพิจารณาจากการตอบคำถามในใบสมัครเป็นสำคัญ ทั้ง 20 ทีมที่ได้รับการคัดเลือกจะเข้าร่วมกิจกรรมของโครงการฯ ณ ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน และหากทั้ง 20 ทีมนี้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของโครงการฯ จะได้รับเงินสนับสนุนการดำเนินโครงงานการจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ท้องถิ่นของตนเอง ทีมละ 5,000 บาท
หลักจากการเข้าร่วมกิจกรรมของโครงการฯ คณะกรรมการจะทำการคัดเลือกทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย จำนวน 8 ทีม เพื่อเข้าแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ (final pitching) ด้วยการนำเสนอผลการดำเนินโครงงานด้วยปากเปล่า (oral presentation) และทีมที่ชนะการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ จะได้รับเงินรางวัล และโล่เกียรติยศ รวมมูลค่ากว่า 70,000 บาท