/ S&P ร่วมกับศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตะวันออก
บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ผู้นำทางด้านธุรกิจอาหารและเบเกอรี่ ซึ่งกำลังจะก้าวสู่ปีที่ 50 นำโดย คุณมณีสุดา ศิลาอ่อน ประธานเจ้าหน้าที่สำนักพัฒนาความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร และพนักงานจิตอาสา 33 คน ร่วมกับ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตะวันออก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตะวันออก สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโดย คุณสุรศักดิ์ ทองสุกดี ผู้อำนวยการ พร้อมกันนี้ ยังได้รับเกียรติจาก คุณบรรณรักษ์ เสริมทอง รองอธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกิจกรรมปลูกหญ้าทะเลในโครงการ “S&P ฟื้นฟูระบบนิเวศ คืนคุณค่าสู่ท้องทะเล” เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลกและวันทะเลโลก ด้วยการร่วมกัน ‘ปลูกหญ้าทะล’ อันเป็นการช่วยสร้างสมดุลให้ระบบนิเวศอย่างยั่งยืน ณ หาดน้ำแดง จ.ระยอง เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566
คุณมณีสุดา ศิลาอ่อน ประธานเจ้าหน้าที่สำนักพัฒนาความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในปีนี้ เอส แอนด์ พี ก้าวสู่ปีที่ 50 ด้วยการดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาล คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย ตลอดจนสังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยบริษัทฯ มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนของสหประชาชาติ คือ เป้าหมายที่13 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) บริษัทฯ ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์สิ่งมีชีวิตต่างๆ สิ่งแวดล้อม และยังกระทบต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของฤดูกาล การเกิดภัยพิบัติ และการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่เราพบเห็นกันตามข่าวมากขึ้น จึงได้จัด “โครงการ S&P ฟื้นฟูระบบนิเวศ คืนคุณค่าสู่ท้องทะเล” เพื่อสร้างจิตสำนึกให้แก่พนักงานของเรา ในการร่วมดูแล ฟื้นฟู และปกป้องทรัพยากรสิ่งแวดล้อม เนื่องจากทุกวันนี้มนุษย์ใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมในการดำรงชีวิต อีกทั้งพฤติกรรมของมนุษย์ยังก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ เราตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมฟื้นฟูระบบนิเวศเพื่อตอบแทนคืนสู่ธรรมชาติ ด้วยการปลูกหญ้าทะเล เสริมสร้างระบบนิเวศตามแนวชายฝั่งทะเล เพื่อเป็นแหล่งอาหาร แหล่งพักพิงของสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล และเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญ เมื่อสัตว์ทะเลมีคุณภาพชีวิตที่ดีก็จะส่งผลดีต่อการขยายพันธุ์ นอกจากนี้ หญ้าทะเลยังมีคุณสมบัติสำคัญสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สาเหตุของภาวะโลกร้อนได้ดีกว่าป่าบกถึง 4 เท่า อันเป็นการช่วยสร้างสมดุลให้ระบบนิเวศอย่างยั่งยืน“
S&P ขอเป็นส่วนหนึ่งในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ พลังเล็กๆ เมื่อรวมกันจะเป็นพลังยิ่งใหญ่ช่วยกอบกู้วิกฤตแห่งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Crisis) ไปด้วยกัน