/ เครือซีพี เดินหน้าสบขุ่น โมเดลฟื้นฟูป่าภาคเหนือ
กว่า 7 ปี ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ เล็งเห็นปัญหาและให้ความสำคัญด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ที่กำลังเผชิญกับสภาวะฝุ่นควันทางอากาศ หรือ PM 2.5 โดยเข้าไปดำเนินงานด้านความยั่งยืน ฟื้นฟูป่าต้นน้ำสำคัญ 4 สาย ได้แก่ ปิง วัง ยม น่าน เกิดเป็นโครงการต่างๆ ผ่านความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชน โดยมีแนวคิดการยกระดับอาชีพชุมชนด้านการเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการที่เข้าไปดำเนินงานในภาคเหนือเป็นต้นแบบที่แรก คือ “สบขุ่น โมเดล” ในพื้นที่บ้านสบขุ่น ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา จ.น่าน
นางสาวพิไลลักษณ์ พิชัยวัตต์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์ที่เครือซีพีเข้าไปดำเนินการร่วมพัฒนาชุมชนในภาคเหนือ มี 3 เป้าหมาย คือ การพลิกฟื้นผืนป่า ยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างอาชีพสร้างรายได้ต่อยอดสู่ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ด้วยการส่งเสริมปรับเปลี่ยนอาชีพเกษตรกรรม สนับสนุนปลูกพืชมูลค่าสูง ทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว อาทิ กาแฟใต้ร่มไม้ หรือกาแฟใต้ป่า และในปีนี้มีการทดลองปลูกไม้ผลชนิดต่างๆ ตามความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ความต้องการของชาวบ้าน และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลลัพธ์ที่ชุมชนได้รับเป็นไปในทิศทางที่ดี ทั้งหมดนี้ ตอบโจทย์เป้าหมายใหญ่คือ การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ลดปัญหาภูเขาหัวโล้น ลดฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศหรือ PM 2.5 ในภาคเหนือ ที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย
โดยในปัจจุบัน การดำเนินโครงการ “สบขุ่น โมเดล” ดำเนินเข้าสู่เฟสที่ 2 มีเป้าหมายให้ชุมชนมีความเข้มแข็งเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน โครงการสำคัญในการช่วยฟื้นฟูป่าที่เริ่มตั้งแต่ปี 2565 คือ โครงการสร้างความภาคภูมิใจแก่เกษตรกร “คืนป่าแลกอาชีพทางเลือก” โดยร่วมกับหน่วยงาน สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 สาขาแพร่ กรมป่าไม้ ส่งเสริมให้เกษตรกร หันมาปลูกพืชมูลค่าสูงและใช้ที่ดินเหมาะสมอย่างเช่น “กาแฟใต้ร่มไม้ หรือกาแฟใต้ป่า” และไม้ผลที่เหมาะสมกับพื้นที่และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้ให้กับชุมชนบ้านสบขุ่นแล้ว 2.5 ล้านบาท โดยพื้นที่ส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ใช้ทำการเกษตร ก็จะกลับคืนสภาพเป็นป่า ส่งผลให้พื้นที่ภูเขาหัวโล้นลดลง ปัญหาการเผาวัสดุทางการเกษตรก็จะลดลงตามไปด้วย โครงการดังกล่าวฯ ได้รับการตอบรับจากเกษตรกรบ้านสบขุ่นเป็นอย่างดี โดยเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 23 ครัวเรือน และคืนพื้นที่ทำเกษตรให้กลับมาเป็นป่าแล้ว 759 ไร่ สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวรวมทั้งสิ้น 2,148 ไร่
นายสงคราม รัตนศรีลา ประธานวิสาหกิจชุมชนสร้างป่าสร้างรายได้ บ้านสบขุ่น กล่าวว่า แต่เดิมหลายปีก่อนที่ซีพีเข้ามา ก็ปลูกข้าวโพดประมาณ 60 ไร่อยู่ ปัญหาที่พบส่วนใหญ่เป็นเรื่องของราคาตลาดแต่ละปีที่ไม่แน่นอน ทำให้รายได้บางปีไม่เพียงพอ อีกทั้งใช้พื้นที่จำนวนมากในการปลูก ทำให้มีความยากลำบาก และเหนื่อยมาก การเผาก็มาก บางปีมีฝุ่นควันลอยค้างรอบชุมชนร่วมเดือน เมื่อซีพีเข้ามาในหมู่บ้าน มาส่งเสริมการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน และแนะนำพืชมูลค่าสูง และไม้ยืนต้นหลายชนิด ทั้งกาแฟ อะโวคาโด ยางพารา ยางนา ทำให้คนในชุมชนมีทางเลือกใหม่ หลายคนจึงได้ตัดสินใจร่วมโครงการฯ จนปัจจุบัน ชาวบ้านในชุมชนใช้พื้นที่ที่เคยปลูกข้าวโพดหลายไร่ มาปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน นอกจากนี้ยังสนับสนุนไม้ผลเพิ่มเติมหลายชนิด ทั้งลองกอง มังคุด และเงาะ ทำให้ชาวบ้านอยากลองปลูกพืชชนิดใหม่ ซึ่งผลตอบรับดีมากที่ทดลองเข้าไปปลูกใต้ร่มป่า เมื่อมีโครงการคืนป่าแลกอาชีพทางเลือก จึงตัดสินใจเข้าร่วมการคืนป่าร่วมกับซีพี มีผลมาจากความไว้ใจ เพราะซีพีเข้ามาอยู่ร่วมกับชุมชนมาหลายปีแล้ว และมั่นใจว่าซีพีจะช่วยให้ชาวบ้านและชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งอาชีพ รายได้เพียงพอ ตลอดจนการมีป่าเพิ่มขึ้น จะทำให้ชุมชนมีร่มไม้ มีแหล่งน้ำใช้ และมีอากาศที่ดีขึ้นได้ในอนาคต